realist-blog-logo
facebook-logo youtube-logo instagram-logo line-logo tiktok-logo
thelist-logo
 (222)
 (318)
 (388)
 (29)
 (11)
 (4)
 (19)
 (199)
 (54)
 (29)
 (6)
 (5)
 (9)
 (51)
 (9)
 (34)
 (27)
 (9)
 (9)
 (181)
 (85)
 (110)
 (106)
 (41)
 (17)
 (45)
 (24)
 (41)
 (19)
 (18)
 (13)
 (36)
 (13)
youtube-icon instagram-icon line-icon tiktok-icon
realist-blog-logo
 (222)
 (318)
 (388)
 (29)
 (11)
 (4)
 (19)
 (199)
 (54)
 (29)
 (6)
 (5)
 (9)
 (51)
 (9)
 (34)
 (27)
 (9)
 (9)
 (181)
 (85)
 (110)
 (106)
 (41)
 (17)
 (45)
 (24)
 (41)
 (19)
 (18)
 (13)
 (36)
 (13)
youtube-icon instagram-icon line-icon tiktok-icon

พระเมรุมาศ

04 Dec 2017 1.0K

พระเมรุมาศ

04 Dec 2017 1.0K
 

 หลังเงาพระเมรุมาศ

ขอขอบคุณเนื้อหาและภาพเกือบทั้งหมด จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ (ASA) ในวารสารเล่มพิเศษ "หลังเงาพระเมรุมาศ" ของ ASA CREW และงานสัมมนาสถาปัตยกรรม พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 มาถ่ายทอดแก่สาธารณะชนได้รับชมกันครับ
ทาง Realist ได้มีโอกาสเข้าชมงานเสวนา สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๙ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ช่วงเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ว่ากว่าจะมาเป็นพระเมรุมาศและพื้นที่สำหรับประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ผ่านกระบวนการทางความคิดมากอย่างมากมาย ในการออกแบบเพื่อที่จะถ่ายทอดออกมาได้อย่างวิจิตรบรรจง ของเหล่าสถาปนิกที่ได้มาเล่าขานให้ฟังกันในวันนี้ รวมถึงความทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจของผู้เกี่ยวข้องในทุกๆฝ่าย ที่อุทิศให้งานออกมาได้อย่างสมพระเกียรติ  กลุ่มสถาปนิกผู้ทำงานด้าน สถาปัตยกรรมไทย กรมศิลปากร ที่เคยมีประสบการณ์สร้างพระเมรุมาศและพระเมรุทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้ร่วมแรงร่วมใจนำความรู้ทางวิชาชีพและประสบการณ์ที่ได้รับการฝึกฝนจากครู อาจารย์มาใช้อย่างเต็มความสามารถ เช่นเดียวกับงานก่อสร้างพระเมรุมาศและพระเมรุในทุกๆครั้ง นอกเหนือจากงานด้านสถาปัตยกรรมไทยแล้ว ยังมีการทำงานร่วมกับสถาปัตยกรรมแขนงอื่น ๆ เช่น สถาปัตยกรรมภายใน มัณฑนศิลป์ ภูมิสถาปัตยกรรม รวมถึงกลุ่มวิชาชีพอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลงานที่สมพระเกียรติและเสร็จสมบูรณ์ทันเวลา พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น (มีนาคม ๒๔๕๘-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖) ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อยสถาปัตยกรรม ปี ๒๕๔๑ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร บุคลากร คนสำคัญด้านสถาปัตยกรรมไทยและเป็นหัวหน้าผู้ออกแบบพระเมรุมาศและพระเมรุ ถึง ๓ ครั้ง เคยกล่าวไว้ว่า “งานดี ไม่ทันเวลา ค่าไม่มี” การทำงานครั้งนี้จึงเป็นความท้าทายของทุกฝ่าย เนื่องจากเป็นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นงานใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทว่ามีระยะเวลาดำเนินงานไม่นานนัก แต่ด้วยปณิธานอันเป็นหนึ่งเดียวกันของ คนทำงานทุกคนที่เกี่ยวข้องว่า ต้องปฏิบัติงานถวายอย่างเต็มพละกำลังและความสามารถ จึงเป็นที่มาของการเก็บรวบรวมภาพการทำงานตลอดระยะเวลาเกือบ ๑ ปี
 

จุดเริ่มต้นของการทำงาน

๑๙ นาฬิกาของวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ นาทีแรกที่สำนักพระราชวังแถลงการณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต  บุคลากรทั้งหมดในสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ได้เริ่มลงมือทำงานทันทีด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรกคือ ด้วยความเป็นข้าราชการที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความรู้ความชำนาญในวิชาชีพ ประการที่สองคือ ในฐานะของประชาชนชาวไทยที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และต้องการปฏิบัติงานถวายอย่างสุดกำลังความสามารถ จึงนำไปสู่ภาพการระดมความคิดในช่วงเวลาค่ำของวันเดียวกันนั้น หลายคนที่แยกย้ายกันกลับบ้านไปแล้วได้เดินทางกลับมาที่สำนักงาน เพื่อประชุมเตรียมงานสำหรับการทำแบบร่างแรกพระเมรุมาศ และทำงานอย่างต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการประชุมครั้งแรก ถูกต่อยอดอีกเป็นการประชุมในครั้งถัดไปเพื่อระดมความคิดควบคู่ไปกับการค้นคว้าหาข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและถูกต้องจนกระทั่งสรุปแบบร่างพระเมรุมาศได้ ๔ แบบ แนวคิดหลักในการออกแบบมี ๓ ประการ คือ
๑. ออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ๒. ศึกษาและออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ๓. ศึกษาและออกแบบโดยใช้แนวคิดคติไตรภูมิ ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา และคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ในสถานะสมมติเทพ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในฐานะทรงรับเป็นที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชวินิจฉัยให้กรมศิลปากรดำเนินการพัฒนาแบบพระเมรุมาศทรงบุษบก ๙ ยอด เพื่อการพระเมรุในครั้งนี้

พระเมรุมาศ ศูนย์กลางแห่งจักรวาล

ครั้งนี้คณะผู้ปฏิบัติงานได้กำหนดจุดศูนย์กลางของพระเมรุมาศ โดยอาศัยตำแหน่งจุดตัดของแกนสำคัญ ๒ แกน  คือ แกนทิศเหนือ-ใต้ ได้แก่ แนวแกนที่ขนานกับสนามหลวงไปจนถึงยอดพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอีกแกนหนึ่งคือแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก ได้แก่ แนวแกนตั้งฉากกับแกนแรกไปยังจุดศูนย์กลางพระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และออกแบบให้สระน้ำล้อมรอบพระเมรุมาศเป็นเสมือนสระอโนดาต เป็นที่อยู่ของสัตว์หิมพานต์
ส่วนการออกแบบงานภูมิทัศน์ใช้ระบบสัญลักษณ์แทนสัณฐานของจักรวาล เน้นการจำลองบรรยากาศ การใช้สัญลักษณ์ เช่น สัตว์ในป่าหิมพานต์และเลือกพืชพรรณที่เกี่ยวข้องกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ภาพนี้ทำให้เห็นแกนดังกล่าวได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด ส่วนอาคารด้านขวาที่ปรากฏในภาพคือพระที่นั่งทรงธรรม

แผนผังสามมิติของพระเมรุมาศและอาคารประกอบ

ภาพนี้แสดงให้เห็นตำแหน่งของพระเมรุมาศ ซึ่งเป็นองค์ประธานที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่พระราชพิธี มีอาคารรายล้อมหลายอาคาร ประกอบด้วยพระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ ศาลาลูกขุนทั้งทางด้านซ้าย-ขวา รอบนอกสุดคือทิม ซึ่งใช้เป็นที่พักสำหรับพระสงฆ์ แพทย์หลวง เจ้าพนักงาน
และเป็นที่ประโคมปี่พาทย์ประกอบพิธี สุดท้ายคือทับเกษตร เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงขอบเขตมณฑลพิธี ใช้เป็นที่นั่งของข้าราชการที่มาร่วมพระราชพิธี จากภาพมุมสูงทำให้เห็นอาคารแวดล้อมที่สวยงามและส่งเสริมความสง่างามของพระเมรุมาศที่เป็นองค์ประธานกลางมณฑลพิธี

การวางผังและออกแบบภูมิทัศน์

จากคติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลที่กล่าวไว้ในไตรภูมิฉบับพญาลิไท ซึ่งบรรยายถึงลักษณะสัณฐานจักรวาลว่ามีรูปทรงเป็นทรงกลมศูนย์กลางของจักรวาลคือเขาพระสุเมรุ ซึ่งล้อมรอบด้วยสัตบริภัณฑ์ (ภูเขาทั้ง ๗) มหานทีสีทันดร (แม่น้ำทั้ง ๗) และทวีปทั้ง ๘ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นที่อยู่ของมนุษย์ ขอบนอกสุดคือกำแพงจักรวาล ยอดเขาพระสุเมรุคือสวรรค์ ดังนั้นตามคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ ซึ่งสถิตบนสวรรค์หรือเป็นดั่งองค์นารายณ์ที่อวตารลงมา เพื่ออำนวยความสงบสุขในโลกมนุษย์ เมื่อถึงกาลสิ้นอายุจึงเสด็จสู่สวรรคต หมายถึง การกลับไปสู่สวรรค์ ณ เทวสถาน คือยอดเขาพระสุเมรุ
การพระบรมศพตามโบราณราชประเพณี จึงเป็นการถวายพระเกียรติยศและแสดงความเคารพอย่างสูงสุด ช่างทุกแขนงจึงรวมใจถวายงานสุดฝีมือเพื่อสร้างพระเมรุมาศให้งดงามเทียบได้กับเทวสถานบนสรวงสวรรค์ จึงมีการประดับตกแต่งด้วยสีทอง เพื่อเป็นตัวแทนของสวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุและการกำหนดตำแหน่งจุดกึ่งกลางในการสร้างพระเมรุมาศนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับการกำหนดศูนย์กลางของจักรวาล

พระเมรุมาศทรงบุษบก ๙ ยอด ออกแบบโดยก่อเกียรติ ทองผุด

พระเมรุมาศในพระราชพิธีในครั้งนี้เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก ๙ ยอด ออกแบบโดย ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมแห่งกรมศิลปากร ซึ่งเป็นศิษย์ของพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่นการออกแบบพระเมรุมาศนี้ยึดตามหลักโบราณราชประเพณี องค์พระเมรุมาศ ประกอบด้วยอาคารทรงบุษบก ๙ องค์ ความสูง ๕๐.๔๙ เมตร ตั้งอยู่บนชาลาหรือฐานย่อมุมไม้สิบสอง ความกว้างของชาลาด้านละ ๖๐ เมตร แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น ได้แก่
ชาลาที่ ๑ เป็นชั้นที่ประกอบไปด้วยรั้วราชวัติ ชาลาที่ ๒ ประกอบด้วยหอเปลื้อง ตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ชาลาที่ ๓ ประกอบด้วยซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น ตั้งอยู่ทั้งสี่มุมสำหรับพระสงฆ์สวดอภิธรรม พื้นที่รอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาตอยู่ทั้ง ๔ มุมประดับด้วยเขามอและประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ เช่น กินรี คชปักษา คชสีหะ สื่อถึงสัณฐานของเขาพระสุเมรุที่ตั้งของสรวงสวรรค์ นอกจากองค์พระเมรุมาศแล้วยังมีอาคารประกอบอื่น ๆทั้งที่อยู่ภายในมณฑลพิธีและภายนอกอีก หลายหลังซึ่งอาคารแต่ละหลังรองรับการใช้งานที่แตกต่างกัน

จากภาพร่างสู่งานจริงงานขยายแบบที่ใหญ่ที่สุด

“โต๊ะ” ที่พูดถึงนี้ จริง ๆ แล้วก็คือ “โรงขยายแบบ” นั่นเอง ที่ว่าเป็นโต๊ะขยายแบบที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เพราะต้องใช้ “พื้น” ของโรงขยายแบบเป็นที่ทำงาน ในช่วงแรกของการทำงานได้มีการก่อสร้างโรงขยายแบบชั่วคราวขึ้นในพื้นที่ท้องสนามหลวง เพื่อสะดวกในการทำงานร่วมกันกับการก่อสร้างหน้างาน ต่อมาโรงขยายแบบเหล่านี้ถูกรื้อออกเพื่อสร้างอาคารประกอบพระราชพิธีผู้ปฏิบัติงานจึงได้ย้ายการทำงานคัดลอกขยายลายส่วนที่เหลือไปอยู่ที่โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) วิธานสถาปกศาลา (อ่านว่า วิ-ทา-นะ-สะ-ถา-ปะ-กะ-สา-ลา) เป็นชื่อที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้แก่โรงขยายแบบนี้ ความหมายของชื่อแปลว่าโถงอันเป็นที่ตระเตรียมงานสถาปัตยกรรม เมื่อเทียบกับการสร้างพระเมรุมาศทุกครั้งที่ผ่านมาครั้งนี้ถือว่าขนาดของโรงขยายแบบมีขนาดใหญ่มาก
 บริเวณผนังด้านหนึ่งของโรงขยายแบบแห่งนี้ยังมีตัวอักษรลายพระหัตถ์ “วิธานสถาปกศาลา (โรงขยายแบบ)” หล่อด้วยเรซินติดประดับรวมทั้งมีโต๊ะทรงงาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรความคืบหน้าในการก่อสร้างพระเมรุมาศอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกเดือน สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่และคณะผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง

มหันธโนฤกษ์ ยกเสาเอกพระเมรุมาศและการก่อสร้าง

ฤกษ์ใหญ่ยกเสาเอก วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๐๑ - ๑๐.๕๔ น. พิธีเริ่มโดยประธานจุดธูปเทียนบูชาเครื่องบวงสรวง พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์อ่านโองการบวงสรวงการก่อสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ รดน้ำเทพมนต์ เจิมเสา จากนั้นประธานในพิธีสรงนำ้ปิดทองผูกแพร ๓ สีที่เสาเอกพระเมรุมาศ พร้อมถือสายสูตรยกเสาเอกพระเมรุมาศขึ้นตั้ง พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เจ้าพนักงานประโคม ฆ้องชัย สังข์ บัณเฑาะว์ ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ รำบวงสรวง จนถึงเวลา๑๐.๕๔ น. จึงเสร็จพิธีบวงสรวงการก่อสร้างและยกเสาเอกพระเมรุมาศที่พร้อมสำหรับงานก่อสร้างต่อไป การสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้เป็นงานที่ใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แม้จะเป็นการออกแบบสิ่งก่อสร้างชั่วคราว แต่ก็ต้องทำให้มีความแข็งแรง คงทน และสมพระเกียรติยศ สำหรับความท้าทาย 
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงตระหนักถึงการใช้วัสดุและวิธีการก่อสร้างที่ควรสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีพระราชดำรัสถึงการลดการใช้ไม้และนำทรัพยากรที่สามารถหมุนเวียนมาใช้ใหม่ได้ ทีมสถาปนิกผู้ออกแบบและทีมวิศวกรได้น้อมนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เช่น การเปลี่ยนจากเสาไม้เป็นเสาเหล็กที่สามารถถอดประกอบนำไปใช้ใหม่ได้ โดยยึดโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ไว้ด้วยนอต 
การใช้วัสดุพีวีซีผสมเนื้อไม้หรือการทำต้นแบบและหล่อเรซินแทนการใช้ไม้ เพื่อทำส่วนประดับตกแต่งพระเมรุมาศและอาคารโดยรอบ จัดเป็นวัสดุที่เหมาะสมกับงานครั้งนี้ เนื่องจากผลิตงานได้รวดเร็วและประหยัดเวลาในการทำงานครั้งนี้ยังได้นำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยลดขั้นตอน เพื่อให้รวดเร็วขึ้น เช่นการตัดด้วยระบบ CNC (Computer Numerical Control) โดยการโปรแกรมข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ผลที่ได้คืองานตัดแกะลวดลายที่มีความแม่นยำสูงกล่าวได้ว่าวิธีคิดเรื่องลดการสร้างขยะถูกนำมาใช้ตลอดระยะเวลาการทำงานในครั้งนี้เลยทีเดียว

งานออกแบบตกแต่งภายใน พระที่นั่งทรงธรรม

การทำงานออกแบบตกแต่งภายในพระที่นั่งทรงธรรมได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ พื้นที่บริเวณส่วนกลาง ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงธรรมในพระราชพิธี และส่วนที่เป็นพื้นที่ด้านปีกซ้ายและปีกขวา เป็นพื้นที่สำหรับเจ้านายชั้นสูง พระราชอาคันตุกะและเหล่าทูตานุทูต

ที่มาและความหมายของสีในงานออกแบบ

สีเทา สีขาว และสีทอง เป็นกลุ่มสีที่ถูกเลือกเพื่อใช้ในงานก่อสร้างอาคาร เหตุผลที่ต้องเป็น ๓ สีนี้เนื่องจากในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรสีเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในงานก่อสร้างประจำรัชกาลหลายครั้ง เช่น การก่อสร้างอาคารวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นสีที่ใกล้เคียงกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล-อดุลยเดช ที่คลองห้า จังหวัดปทุมธานี อีกทั้งยังเป็นสีที่ใกล้เคียงกับสีที่ซุ้มประตูของพระบรมมหาราชวังอีกด้วย
สีทอง เป็นสีที่เชื่อมโยงถึงพระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในสีสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในงานพระราชพิธีครั้งนี้ด้วย สถาปนิกทดลองนำสีทองหลายรูปแบบมาทดลองก่อนให้สีจริง เพื่อให้เกิดสีทองที่ดูโดดเด่นมากขึ้น จากรูปเป็นการลงสีหลังรองพื้นชิ้นส่วนของอาคาร เริ่มจากสีขาวอะคริลิก จากนั้นรองสีพื้นวัตถุด้วยสีแดงหรือสีเหลือง แล้วจึงพ่นสีทองอีกชั้นหนึ่ง เพื่อทดสอบว่าสีใดจะช่วยขับให้สีทองดูโดดเด่นที่สุด จากนั้นทิ้งไว้หนึ่งสัปดาห์เพื่อให้มั่นใจถึงความคงทนและเฉดสีที่ไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมหลังการทดลองพบว่าการใช้สีแดงคู่กับสีเหลืองจะทำให้สีทองดูสวยที่สุด

ความหมายที่ซ่อนอยู่

ปัจฉิมคาถา หน้าบันพลับพลายก การตกแต่งหน้าบันพลับพลายก ณ ท้องสนามหลวง นฤพร เสาวนิตย์ สถาปนิกชำนาญการ กรมศิลปากร ผู้ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการออกแบบและสร้างพลับพลายก ได้ยกข้อความตัดย่อเฉพาะท่อนจากปัจฉิมคาถามาตกแต่งหน้าบัน โดยสื่อด้วยข้อความอักษรไทยขอม เนื้อความเกี่ยวกับไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สำหรับปัจฉิมคาถานั้นเป็นคาถาขอขมาพระสงฆ์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริให้ขุนนางเชิญไป กล่าวในที่ประชุมสงฆ์เพื่อขอขมา ลักษณะการนำเสนอด้วยข้อความนอกเหนือไปจากการนำเสนอด้วยชิ้นงานศิลปะนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้ออกแบบมีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนได้ตามสมควร
เทคนิคสาบสีและตบสี เทคนิคการฉลุผ้าทองย่นสาบสีสอดแวว คือศิลปกรรมที่ลดทอนมาจากการปิดทองประดับกระจกอย่างงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ซึ่งใช้ผ้าทองย่นแทนการปิดทอง และใช้กระดาษสีแทนการประดับกระจก โดยขั้นตอนคือต้องออกแบบลายไม่ให้ขาดจากกัน แล้วนำไปฉลุหรือใช้การตอกผ้าทองย่นให้เกิดช่องว่างตามลวดลายที่เขียนไว้ จากนั้นใช้กระดาษสีปิดแทนกระจก แล้วจึงสาบกระดาษสีพื้นแผ่นใหญ่ด้านหลังอีกทับหนึ่ง ส่วนเทคนิคการตบสีเริ่มด้วยการออกแบบลายให้เกิดช่องว่างขาดจากกัน แล้วนำแผ่นพลาสติกมาตัดตามลายนั้น จะได้แบบพลาสติกที่เจาะช่องแล้ว นำลูกประคบจุ่ม แตะสี แล้วจึงตบตามช่องให้เกิดเป็นลวดลาย
ศิลปะการซ้อนไม้ กรรมวิธีการซ้อนไม้จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อสถาปนิกขยายแบบเท่าจริงจนได้สัดส่วนสวยงามและมีลวดลายตามที่ต้องการจากนั้นจึงคัดเส้นลงตามที่ประสงค์บนกระดาษไขเพื่อส่งให้ช่างทำการซ้อนไม้ การซ้อนไม้นี้คือการตัดไม้ตามเส้นลายที่วาดไว้ในแผ่นกระดาษ ช่างไม้จะเตรียมไม้อัดประกบความหนาให้ได้ชั้นตามแบบ การซ้อนไม้นี้คือการตัดไม้ตามเส้นลาย นำมาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ประดับด้วยสีทองและกระดาษแววให้เกิดมิติ ซึ่งลดทอนมาจากศิลปะการแกะไม้ปิดทองประดับกระจกผู้ออกแบบเขียนลายจะต้องระบุความตื้นลึกของแต่ละชั้นไว้ 
เพื่อให้ช่างไม้สามารถตัดและซ้อนตามแบบได้อย่างถูกต้อง ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนวัสดุและเทคนิคไปตามวิทยาการงานสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมในแต่ละยุคสมัย มีการทดลองหาวัสดุทดแทน
 เช่น ใช้การซ้อนไม้จริงทำต้นแบบ แล้วจึงนำไปทำพิมพ์เพื่อหล่อชิ้นงานเรซินในองค์ประกอบที่ซ้ำ ๆ กัน ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมแก่ยุคสมัยมากที่สุด

สระอโนดาต

คำว่า “อโนดาต” มาจากศัพท์ “อโนตตฺต” ในภาษาบาลี ตรงกับรูปศัพท์ในภาษาสันสกฤตว่า “อนฺวตปฺต” ซึ่งมีความหมายตรงกันว่า “ไม่ร้อน” (อ้างอิง : วารสารดำรงวิชาการ คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร) สระอโนดาตเป็น สระ ๑ ในสระทั้ง ๗ ในป่าหิมพานต์ ซึ่งธารน้ำ ทั้งหลาย จะไหลรวมมาสู่สระนี้ พื้นสระอโนดาตเป็นแผ่นหินกายสิทธิ์ชื่อ “มโนศิลา” บริเวณที่เป็นดินก็เป็นดินกายสิทธิ์ชื่อ “หรดาล” น้ำใสสะอาด มีท่าสำหรับลงอาบของพระพุทธะ พระปัจเจกพุทธะ และผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย และมีท่าสำหรับลงเล่นน้ำของพวกเทพและยักษ์ เป็นต้น รอบสระอโนดาตมียอดเขารายรอบอยู่ ๕ ยอด 
ได้แก่ ยอดเขาสุทัสสนะ ยอดเขาจิตตะยอดเขากาฬะ ยอดเขาไกรลาส และยอดเขาคันธมาทน์ยอดเขาทั้ง ๕ มีรูปทรงคล้ายยอดเขาสุทัสสนะ คือมีสัณฐานโค้งงุ้มดังปากกา โอบปิดด้านบนสระอโนดาตไว้ไม่ให้โดนแสงอาทิตย์และแสงจันทร์ มีเทวดาและนาคเป็นผู้ดูแลรักษาสระอโนดาตมีปากทางให้น้ำไหลระบายออกอยู่ ๔ แห่ง ทิศละแห่ง คือ สีหมุข ปากแม่น้ำแดนราชสีห์ (เป็นถิ่นที่ราชสีห์อาศัยอยู่มาก) หัตถีมุข ปากแม่น้ำแดนช้าง (เป็นถิ่นที่ช้างอาศัยอยู่มาก)
อัสสมุข ปากแม่น้ำแดนม้า (เป็นถิ่นที่ม้าอาศัยอยู่มาก) อุสภมุข ปากแม่น้ำแดนโคอุสภะ (เป็นถิ่นที่โคอาศัยอยู่มาก) ทำให้เกิดเป็นแม่น้ำใหญ่ ๔ สายไหลหล่อเลี้ยงรอบนอกเขาหิมพานต์ก่อนลงสู่มหาสมุทรสัตว์มงคล ๔ ประเภทที่ติดตั้งตรงทิศทั้ง ๔ ของสระอโนดาตรอบฐานพระเมรุมาศ ล้วนได้แนวความคิดมาจากปากแม่น้ำสำคัญทั้ง ๔ สายและถิ่นที่อาศัยของสัตว์หิมพานต์เหล่านี้

เคลื่อนย้ายต้นมะขาม

ต้นมะขาม ถือเป็นสัญลักษณ์ของท้องสนามหลวง จำนวน ๔๔ ต้น แบ่งเป็นต้นฝั่งทิศเหนือ ๓๐ ต้น และต้นฝั่งทิศใต้ ๑๔ ต้น ทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายออกเพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกตารางเมตรพร้อมอย่างที่สุดสำหรับงานก่อสร้างพระเมรุมาศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีความเป็นห่วงการย้ายต้นมะขามครั้งนี้มาก ทางกรุงเทพมหานครจึงร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ทำการอนุรักษ์พันธุกรรมมะขามที่ถูกขุดล้อมย้ายออกทั้ง ๔๔ ต้น ด้วยการตัดกิ่งไปเสียบยอดในสวนจิตรลดาประมาณ ๑,๐๐๐ กิ่ง และสำนักสิ่งแวดล้อมได้นำกิ่งไปเพาะชำไว้ประมาณ ๑,๐๐๐ กิ่ง รวมถึงทาบกิ่งและตอนกิ่งไว้อีกประมาณ ๕๐๐ กิ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าต้นมะขามอายุนับร้อยปีทั้งหมดนี้จะยังคงอยู่อย่างปลอดภัย และพร้อมคืนกลับมาสู่จุดเดิมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของท้องสนามหลวงสืบไป

พื้นที่ด้านนอกรั้วราชวัติ

พื้นที่ด้านนอกรั้วราชวัติออกแบบโดยสื่อถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับป่า ดิน และน้ำ เช่น ฝายน้ำล้น กังหันชัยพัฒนา และหญ้าแฝก บริเวณด้านหน้าพระเมรุมาศออกแบบเป็นบ่อแก้มลิง และคันนารูปเลขเก้าไทย (๙) 
ใช้ดินผสมทรายสีทองสำหรับปลูกข้าวจนกลายเป็นขอบคันนาสีทองอร่าม ส่วนข้าวที่นำมาปลูกในแปลงนาเป็นกลุ่มพันธุ์ข้าวที่มีกลิ่นหอม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสายพันธุ์ที่มีการทดลองและขยายพันธุ์ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และได้พระราชทานไปสู่ชาวนาทำให้ชาวนามีรายได้ที่มั่นคง
"ในมุมมองของสถาปนิก ทุกตำแหน่งหน้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้งานสร้างพระเมรุมาศสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตั้งแต่ครูอาจารย์ของสถาปนิกที่ฝึกฝนพวกเขาด้วยความทุ่มเท บุคลากรด้านอื่นที่สถาปนิกได้ร่วมงานด้วย ทั้งวิศวกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง นักออกแบบตกแต่งภายใน ไปจนถึงแม่บ้าน
พนักงานทำความสะอาด อาสาสมัคร รวมถึงหน่วยรักษาความปลอดภัย ผู้เป็นเบื้องหลังที่ทำให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ เพราะทุกคนต่างมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือทำงานอย่างเต็มที่สุดหัวใจและกำลังความสามารถ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นที่รักของชาวไทยทั้งปวง"

ขอขอบคุณที่มาและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

asa.or.th และ kingrama9.net

Content Creator
ให้เราช่วยคุณหาคอนโดที่ใช่
REAL DATA รวบรวมคอนโดฯ ในกรุงเทพ นำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบครบถ้วน แผนที่ที่ง่ายต่อการค้นหา รวมถึงมีราคาตลาด ยอดขายที่น่าเชื่อถือและบทความวิเคราะห์เชิงลึก ทั้งในเรื่องความน่าอยู่และน่าลงทุน

Condo Database  

Image Shortcut
Image Shortcut
ให้เราช่วยคุณหาคอนโดที่ใช่
REAL DATA รวบรวมคอนโดฯ ในกรุงเทพ นำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบครบถ้วน แผนที่ที่ง่ายต่อการค้นหา รวมถึงมีราคาตลาด ยอดขายที่น่าเชื่อถือและบทความวิเคราะห์เชิงลึก ทั้งในเรื่องความน่าอยู่และน่าลงทุน

REAL DATA  

 (222)
 (318)
 (388)
 (29)
 (11)
 (4)
 (19)
 (199)
 (54)
 (29)
 (6)
 (5)
 (9)
 (51)
 (9)
 (34)
 (27)
 (9)
 (9)
 (181)
 (85)
 (110)
 (106)
 (41)
 (17)
 (45)
 (24)
 (41)
 (19)
 (18)
 (13)
 (36)
 (13)
youtube-icon instagram-icon line-icon tiktok-icon